top of page

'ตอย นวลปณต' นักแสดง-ผู้กำกับละครเวที ผู้จบปริญญาโทสาขา Site-Specific Theaters คนแรกของไทย

Updated: Sep 30, 2022


ชวนท่องโลกละครไปด้วยกัน ค้นหาตัวตน และแก่นของการเป็นนักแสดงสู่การเป็นผู้กำกับ

กว่า 10 ปีในวงการละครเวที ด้วยความอดทน และ passion “ตอย นวลปณต”

ผู้เรียกตัวเองว่าศิลปินที่สร้างโลกในจินตนาการขึ้นมาให้ผู้คนจับต้องได้

ชวนมาอ่าน การดำเนินชีวิต การตัดสินใจ และชื่นชมสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ได้สร้างผลงานไว้แด่โลกใบนี้แล้ว


บทสัมภาษณ์ คุณตอย นวลปณต นักแสดง และ ผู้กำกับละครเวที ผู้จบปริญญาโทสาขา Site-Specific Theaters

คนแรกของไทย กับโปรเจคละครเวทีแนว Immersive กับช่างชุ่ย



อยากให้คุณตอยช่วยเล่าจุดเริ่มต้น โปรเจค 2046: The Greater Exodus หน่อยค่ะ


เป็นโปรเจคที่ช่างชุ่ยสนับสนุนโดยตรงเลยค่ะ เจ้าของช่างชุ่ยคือเจ้าของแบรนด์แฟชั่น Fly Now ค่ะ

ช่วงแรกๆ ที่เปิดช่างชุ่ย เจ้าของมีทำความตั้งใจที่จะทำให้ช่างชุ่ยเป็นพื้นที่ศิลปะมากๆ แต่ด้วยความที่อาจจะเข้าถึงยากไปหน่อย บวกกับเจอพิษโควิดเข้าไปด้วย พักหลังมาก็ต้องปรับให้กลายเป็นที่ขายของเพื่อให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ตอนนี้พอทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจกรรมกัน เขาก็เลยเริ่มคิดว่าเป็นโอกาสที่จะเอาศิลปะกลับมาอีกครั้งด้วยโปรเจคนี้ค่ะ เป็นโปรเจคที่อยากให้รวมเข้ากับคนดูไปเลยตั้งแต่แรกไม่ต้องแยกกัน เป็นโปรเจคละครแบบ Immersive

Immersive theatre คือ ละครเวทีที่คนดูมีส่วนร่วมกับการแสดง ละครแบบนี้ส่วนใหญ่ใช้อาคารทั้งหมดเป็นโรงละคร ผู้ชมไม่ได้นั่งอยู่ในโรงละครชมการแสดงเฉย ๆ แต่สามารถเดินหรือบางทีก็วิ่งตามนักแสดง ผู้ชมสามารถสัมผัสอุปกรณ์ประกอบฉาก สามารถชมการแสดงของนักแสดง แม้แต่เพียงค้นหาสถานที่พักอยู่คนเดียวอย่างเงียบ ๆ เพื่อสัมผัสถึงบรรยากาศของโรงละคร นักแสดงแค่แสดงตามสคริปต์ของตนเองไปพร้อม ๆ กัน คล้ายกับไม่มีใครทั้งสิ้น และคุณก็ดูการแสดงที่ยอดเยี่ยมอยู่ข้าง ๆ บรรดานักแสดงอย่างไม่มีตัวตน แต่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับเรื่องราวของตัวละครอย่างใกล้ชิด

คือคนที่คิดริเริ่มโปรเจคนี้เป็นพี่ครีเอทีฟที่เคยทำงานกับช่างชุ่ยตอนช่างชุ่ยเปิดแรกๆ ค่ะ พี่เขาเหมือนเป็นลูกรักกันกับคุณลิ้ม (เจ้าของช่างชุ่ย) พอทำช่างชุ่ยเสร็จ เขาก็ไปเรียนต่อนิวยอร์กอยู่หลายปี กลับมาอีกทีเขาก็ไปคุยกัน

หาว่าสถานที่ไหนจะเหมาะกับช่างชุ่ยที่จะทำสิ่งนี้ ก็เลยไปจบที่ทำที่ร้านอาหารบนเครื่องบินไปเลย เพราะยังไงเครื่องบินมันก็เป็นเหมือน signature ของช่างชุ่ยอยู่แล้ว พอคุณลิ้ม say yes ก็ลุยกันเลยค่ะ


ด้วยความที่ทั้งช่างชุ่ย และ Fly Now มีคอนเนคชั่น บวกกับมีฐานลูกค้าและสื่อในมือเยอะอยู่แล้วเลยเป็นข้อได้เปรียบของงานนี้ค่ะ

อีกทั้งลูกค้ายังเป็นกลุ่มที่ชอบเสพศิลปะ เป็นแนวเดียวกันกับที่เราเคยเจอค่ะ ลูกค้าของเราก็เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ไม่ได้มีแรงกระเพื่อมในสังคมมาก อยู่กันเอง ดูกันไปดูกันมา ไม่ได้อยู่ในสปอร์ตไลท์ (หัวเราะ) และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เขาให้โอกาสละครเวทีมาอยู่ในสปอร์ตไลท์แบบมากๆ เลย


แล้วคุณตอยมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางนี้ได้ยังไงคะ ใครจีบมา


คือมีพี่คนนึงเขาเป็น Fashion Photographer แล้วเขารู้จักกับผ้าป่าน ศิริมา ซึ่งผ้าป่านเนี่ย เคยทำละครมาบ้าง

ก็คือรู้จักกันผ่านละครอยู่แล้ว เขาก็เลยปรึกษาผ้าป่านว่า พอจะรู้จักใครที่ทำละครแนว Site Specific Immersive ได้บ้าง แล้วเราเคยทำงานกับผ้าป่านมา ผ้าป่านก็เลยแนะนำ

ซึ่งมันเป็นจังหวะพอดีกับที่เรากำลังอยากทำงานใหม่ของตัวเอง มี material ที่สะสมมาพักนึงแล้ว แต่ว่ายังหาที่ลงไม่ได้ อะไรประมาณนี้


รู้สึกยังไงกับงาน scale ระดับนี้


งานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่มาก ต้องดีลงานกับทีมงานหลายฝ่าย แล้วแต่ละฝ่ายก็เป็น professional ในงานของเขากันอยู่แล้ว อย่างตัวช่างชุ่ยเอง ตัวร้านอาหาร หรือแม้แต่คนหน้างาน สายแฟชั่น คนที่เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์

ทุกคนก็ไม่มีใครรู้จักโลกของใครมาก่อน แต่ก็มาทำร่วมกัน แล้วเราก็ต้องสร้างโลกในจินตนาการขึ้นมาให้มันจับต้องได้ ให้ทุกคนอยู่ในโลกจินตนาการนี้ให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันการที่พาคนอื่นมาอยู่ในโลกละครให้ได้เนี่ย ในขณะที่เขาไม่เคยดูละครเวทีด้วยซ้ำ อะไรแบบนี้มันก็ไม่ง่ายเลย ระหว่างทางก็คือโหดมาก รู้สึกเหมือนตัวเองจบปริญญาอีกใบนึง

ความจริงงานสเกลนี้ต้องใช้เวลาเตรียมงานประมาณหกเดือนค่ะ แต่เวลาที่เราได้มาก็คือสองเดือน ต้องทำงานหนักคูณสามเลยค่ะ ยิ่งพาร์ทของละครต้องอาศัยความละเอียดอ่อนเยอะมาก และด้วยเวลาที่จำกัด ช่วงแรกเลยต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพื่อสร้างบท สร้างโลกละครขึ้นมา แต่ว่าจริงๆ ข้อดีก็คือมันเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว นักแสดงยี่สิบกว่าคนก็คือคนที่เราเคยทำงานด้วยหมดแล้ว



ให้พูดถึงเนื้อเรื่องที่คุณตอยเขียนขึ้นมาได้ไหมคะ 2046: The Greater Exodus มันมีที่มายังไง


เรื่อง The Greater Exodus เนี่ย เหมือนเราได้ไอเดียมาจากเรื่องโนอาห์ คือการอพยพไปที่อื่น แล้วก็เรื่อง Snowpiercer เกี่ยวกับเรื่องชนชั้นทางสังคม แนว Sci-fi โลกอนาคต ปี 2046 คือโลกมันไปไวกว่าที่คิด ด้วยภัยพิบัต ด้วยโรคระบาด และหลายๆ อย่างจนโลกนี้มันอยู่ไม่ได้แล้วมนุษย์ต้องอพยพหนีไป


ส่วนชื่อร้านอาหารนี้ชื่อนาโอ ผวนมาจากโนอาห์ แล้วข้างในก็ตกแต่งแบบรุงรังๆ มีสัตว์สตัฟ มีความเป็นโบสถ์ เอาไอเดียมาจากคำภีร์ไบเบิล เรือโนอาห์มีอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็เอาเรื่องนั้นมาขยายให้เป็นสเกลของโลกอนาคต การ-เดินทางของยานอวกาศ เพื่อค้นหาดาวดวงใหม่ เพราะว่าโลกแตกไปแล้ว อะไรประมาณนี้ แต่ว่าการที่จะเอามนุษย์มาอยู่ร่วมกันบนยานอวกาศลำนี้ หลังจากที่โลกแตกเพราะมนุษย์ถูกครอบงำด้วยบาปเจ็ดประการ กิเลส ฯลฯ มันเลยทำให้โลกมันอยู่ไม่ได้ แล้วเราก็เอาคนกลุ่มนี้มายัดอยู่ในยานอวกาศลำเดียวกันอีก เพื่อที่จะเดินทางไปข้างนอก แล้วระหว่างทางมันก็จะทำให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ เพราะเป็นเพราะมนุษย์นี่แหละ โลกมันก็เลยแตก


อาชีพนี้ไม่ว่าจะบอกว่าเป็น นักแสดงละคร หรือ ศิลปิน ใครๆ ก็มองว่าเข้าถึงยาก อยากให้ define

อาชีพตัวเองหน่อยค่ะ


เรียกว่าเป็นศิลปินดีกว่า ศิลปินทำงานศิลปะการละคร คือถ้าจะจำกัดความของศิลปะการละคร มันจะแล้วแต่ความถนัดของศิลปินคนนั้นๆ แต่ว่าการทำละครเรื่องนึงมันก็แอบจะต้องแบบว่า ต้องมีทักษะความรู้เรื่องนั้นนิดๆ หน่อยๆ แล้วถ้าเรามีทักษะเรื่องไหนเป็นพิเศษเราก็ไปเน้นเรื่องนั้น แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องอื่นก็ต้องอาศัยประสบการณ์หรือว่าการทำรีเสิร์ช การเรียนรู้เพิ่มเติม

เพราะว่าการสร้างละครขึ้นมาเรื่องนึงคือการจำลองเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ ขึ้นมาอีกมิตินึง ซึ่งโลกใบนั้นมันก็ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ดีไซน์ หรือว่าอุปลักษณ์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร แล้วก็มีมุมของผู้ชมด้วย มีมุมของเทคนิคด้วย ก็คืออาจจะต้องรู้จักทุกอย่างในการสร้างละครขึ้นมา แต่ถ้าถนัดอะไรเป็นพิเศษก็เน้นสิ่งนั้นไป

การสร้างละครเรื่องนึงขึ้นมามันก็ต้องแอบรู้อะไรเยอะเกินปกตินิดนึง แต่ก็ไม่ได้รู้ทุกอย่างอย่างดี อาศัยการไปปรึกษาคน เช่น เรื่อง Exodus นี้มันมีดนตรีเข้ามาเกี่ยว มีการร้องเพลงเป็นครึ่งนึงของการพัฒนา process โปรเจคนี้ขึ้นมา ก็ต้องมี music director ที่ทำงานร่วมกับ director ของละคร เพื่อไปสร้างพาร์ท music แล้วก็มี lighting designer ที่ทำเกี่ยวกับการสร้างแสง ฉะนั้นมันก็ต้องอาศัยทีมด้วย

นอกจากว่าเราทำในสิ่งที่เราถนัด ส่วนอะไรที่ไม่ถนัดเราก็ต้องอาศัยทีมงาน ที่เขาถนัดในเรื่องนั้นๆ มาช่วยกัน นอกจากจะต้องสร้างโลกโลกนึงแล้ว เรายังต้องทำงานกับคนเยอะมากๆ แต่ละคนแต่ละแบบแต่ละหน้าที่ ซึ่งในโปรเจคนี้นอกจากพาร์ท paper แล้ว เกือบ 30 คน ก็ยังมีพาร์ทของร้านอาหาร เด็กเสิร์ฟ เชฟ แล้วก็พวกพาร์ทโปรดักชั่น จัดการสถานที่ด้วย


แบ่งงานกับยังไงในโปรเจคนี้ คุณตอย จัดการงานยังไง


มีโปรดิวเซอร์กับไดเรกเตอร์ เป็นคนอำนวยการผลิต แต่ว่าหน้าที่ของเราก็คือ สร้างโลกใหม่ สร้างโลกในจินตนาการขึ้นมา ซึ่งตรงนี้มันก็จะเป็นแกนให้ทีมงานอื่นๆ ทำความเข้าใจเพื่อสร้างโลกใบนี้ให้มันสมจริง สมบูรณ์ที่สุด มันก็จะมาจากแกน ถ้าแกนของเรื่อง เรื่องราวหรือการสร้างโลกส่วนนี้เนี่ย มันจะมาจากเรา ส่วนด้านการผลิต การอำนวยการผลิตก็จะมาจากคนที่พูดถึงไป

ต้องอาศัยหลายคน หลายตำแหน่ง หลายหน้าที่มาก ยิ่งโปรเจคใหญ่ยิ่งต้องคนเยอะ แล้วทำงานวันละประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่บ่ายถึงเที่ยงคืน บางวันก็ลากยาวถึงตีสี่ เพราะเราเป็นเหมือนแม่งานที่ต้องรีบทำพาร์ทละครให้เสร็จ เพื่อที่จะเอาไปทำอะไรต่อ เช่น จะได้ดูว่าจะถ่ายโฆษณายังไง จัดการโปรโมทยังไง


เวลาดูหนังดูละคร (เราในฐานะคนดู) ก็อยากเห็นชีวิตจริงเค้านะว่าตัวตนเค้าเป็นยังไง นอกบทบาท define ตัวเองได้มั้ย นิสัยส่วนตัวเป็นคนยังไง ^^


ถ้าลองประเมิณตัวเองจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือมุมมองที่เคยได้ยินมาจากคนอื่น

รู้สึกว่าตัวเองมีความละเอียดอ่อนสูงมาก ก็เลยเหมาะกับการทำสิ่งนี้ ขณะเดียวกันการที่เราต้องสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา โลกในละครมันก็คือโลกเสมือนจริงใบนึงมีองค์ประกอบเยอะมากอยู่แล้ว ทั้งด้านสังคม ด้านการผลิต เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง มันก็ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมากๆ เพื่อให้สมจริงที่สุด เป็นประสบการณ์ที่คนดูได้รับแล้วรู้สึกไปกับมันมากที่สุด และอาศัยความละเอียดในการใส่ใจคนที่ทำงานกับเรา หรือการติดต่องานต่างๆ มันใช้ความละเอียดค่อนข้างเยอะ

และการทำงานการแสดงมันคือการทำงานกับอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกลักษณะนิสัยมันต้องใช้ความละเอียดอยู่แล้วที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อที่พอเราเข้าใจเรื่องนี้ได้ปุ๊ป เราเอาไปใส่ให้นักแสดงทำ เราก็ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนเพื่อที่จะทำงานกับเขา อย่างถ้าเขาเป็นคนแบบนั้น แต่เราอยากให้เขาเป็นแบบตัวละคร เราก็ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการพาเขาไปกับเรา


คำว่าความละเอียดอ่อน (พยายามคิดตาม) มันก็เข้าใจยากเหมือนกันนะคะ ว่าเป็นยังไง


คำว่าความละเอียดอ่อนสามารถมองได้ว่าเป็น neutral ไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่ามองในอีกแง่นึงมันเป็นดาบสองคมคือแง่ลบ ก็คือคิดเยอะ คิดมาก คิดตลอดเวลา คิดในดีเทลเล็กๆ เช่น ตัวตนของนักแสดงที่เรารู้จักเขา เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ว่าคนที่เราอยากให้เขาเล่นเนี่ย เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากๆ เราก็ต้องคิดให้ละเอียดเลยว่าเราจะทำยังไงให้ค่อยๆ ปรับจูนความมั่นใจ ให้เขาเข้าใจ ให้เขามีความมั่นใจในการเล่นตัวละครนี้

ขณะเดียวกันเราก็จะคิดเยอะมากเพราะเราก็เป็นนักแสดงมาก่อน แล้วเราก็แคร์ ว่านักแสดงต้องมาทำโจทย์ที่เขาไม่ถนัด ทำโจทย์ที่เขาต้องก้าวข้ามคอมฟอร์ทโซนอะไรบางอย่างเนี่ย เขาจะซัฟเฟอร์ไหม เป็นอะไรไหม นู่นนี่นั่น ซึ่งบางทีมันก็เยอะไปจนเราเครียดมาก


ความละเอียดอ่อนเป็นสิ่งจำเป็นในคนที่ทำสายอาชีพนี้ทุกคนมั้ย หรือเป็นนักแสดง ผู้กำกับที่ไม่ต้องมีตรงนี้ก็ได้


มันแล้วแต่คนนะ ด้วยความที่เป็นงานศิลปะมันอาศัยอารมณ์ ความรู้สึกในการทำเยอะ มันก็อาศัยความ sensitive เราต้องมาถ่ายทอดมุมมอง ความรู้สึก ความเข้าใจที่รู้สึกว่ามันต้องจริง ดีเทลต้องเป้ะ

เรารู้สึกว่า เราเป็นคนที่ละเอียดอ่อนอยู่แล้วถึงแม้จะไม่เจอละครก็ตาม ก็จะเป็นคนแบบว่า sensitive สูง อ่อนไหวง่าย คิดเยอะอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งปกติพอเป็นแบบนี้อยู่แล้วแล้วมารวมกับละครเนี่ย มันก็มีจุดที่คิดว่า การ sensitive เนี่ย มันเวิร์คหรือมันกลายเป็นดาบสองคมมาทำลายตัวเองหรือเปล่า

คุณตอยเปิดประเด็นที่กำลังอยากถามพอดีเลย

มีความเครียดในระดับไหนคะ แล้วจัดการกับมันยังไง

ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มันยุ่งมากจนไม่มีเวลาที่จะมานั่งคิดว่าตัวเองกำลังเครียดเลย แต่มันก็เห็นทางร่างกายว่าผมร่วงเยอะมาก นอนหลับยาก คือถ้ามองเรื่องสุขภาพก็ต้องมองว่าตัวเองตกต่ำมาก เราทุ่มเทกับงานจนแบบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ด้วยเวลาที่จำกัด เวลามันไม่เอื้ออำนวยเลย เราก็เลยต้องทิ้งอย่างใดอย่างนึงไป ซึ่งอย่างนั้นมันคือสุขภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้ารู้จักเราจะรู้ว่าเราแคร์เรื่องสุขภาพมาก กินก็แย่ เพราะเดี๋ยวนี้ก็กินแต่ process food อะไรแบบนี้เพราะว่ามันต้องทำเวลา ออกกำลังกายจากที่เคยออกทุกวันก็คือ อาทิตย์นึงครั้งเดียวก็เก่งแล้ว นอนก็น้อยกินน้ำก็น้อย มันก็เป็น down side

มันก็กลับมาตรงเรื่องที่เราละเอียด หมายถึงว่าพอเราละเอียดกับงาน เราละเอียดกับคนที่เราทำงานด้วยมากๆ แต่ว่าเราก็ไปโฟกัสกับความละเอียดอ่อนนั้นจนเราเครียด พอเราเครียดปุ๊ป เราก็ไม่ได้ดูแลตัวเอง อะไรประมาณนี้ ซึ่งมันก็ควรจะหา balance ว่างานที่เราทำเนี่ยมันต้องใช้ความละเอียดอ่อนนะ แต่ว่าความละเอียดอ่อนมันก็ต้องมีลิมิตของมัน ถ้ามันเกินมันก็กลายเป็นความเครียดสะสมมันก็กลายเป็นผลร้ายกับตัวเอง


สิ่งที่ได้จากโปรเจคนี้


โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำ การมาเป็นเบื้องหลัง มาเป็นผู้กำกับเนี่ย ต้องกำกับนักแสดง 20 คนเนี่ย แล้วนักแสดงแต่ละคนก็เป็นเหมือนสตาร์ของวงการ บางคนก็เป็นอาจารย์ บางคนก็เป็นศิลปินศิลปาธร ที่เราเป็นคนเลือกเอง เพราะพอเราเขียนบท เราก็ติดต่อคนนั้นคนนี้ที่คิดว่าเหมาะสมกับบท ซึ่งมันต้องใช้นักแสดงเยอะมาก แค่เพื่อนๆ เรามันไม่พอละ ตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่จะให้เพื่อนเราแสดงก็ไม่พอแล้ว ต้องลามไปถึงครูอาจารย์เรา หรือคนที่เคยเป็นผู้กำกับเรามาก่อน ที่เขาเหมาะสมกับบทบาทนั้นๆ ในพาร์ทกำกับคือส่วนที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้วเท่าที่เคยทำมา ยากที่สุดในชีวิตแล้ว


แต่เรื่องตลกก็คือ ช่วงนี้เราก็ยังมีงานแสดงละครเวทีด้วย ที่รุ่นน้องชักชวนไปเล่นเป็นหมู่มวล แบบว่า ชาวบ้าน 1 ชาวบ้าน 2 ซึ่งในชีวิตการแสดงที่ผ่านมา เราไม่เคยเล่นเป็นตัวประกอบเล็กๆ มาก่อน เคยเล่นแต่บทที่มีบทบาทกว่านี้ อันนี้คือมาเล่นช่วยน้องบทง่ายๆ เน้นบรรยากาศ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยทำแบบนั้นมาก่อน

แล้วในขณะที่เรากำกับอีกเรื่องแบบซีเรียส คน 20 คนทำงานเยอะมาก

พอกลับไปเป็นนักแสดงเล่นบทที่ทำฟังก์ชั่นง่ายๆ ให้ความสนุกพาเราไป แค่นั้น เราก็แฮปปี้ เราเข้าใจมากขึ้นว่าการทำงานตรงนี้ ไม่ว่าบทจะเล็กน้อยแค่ไหน แต่ตัวละครทุกตัวสำคัญหมด ถ้าขาดตัวใดตัวนึง ละครมันก็ไม่สมบูรณ์ พอกลับมาเป็นนักแสดงแล้วบทที่เราได้รับ มันเป็นบทเล็กน้อยมากเทียบกับบททั้งหมดที่ผ่านมา กลายเป็นว่าเรารักละครมากขึ้น เพราะเราไปเห็นภาพรวม ภาพกว้างของละคร ทำงานมาแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ว่าจะบทไหนก็ตาม มันจำเป็นหมด

แอบสงสัยมานานแล้วค่ะ การเป็นนักแสดงภาพยนตร์กับนักแสดงละครเวที เหมือนหรือต่างกันยังไง


ต่าง พื้นฐาน basic ครึ่งนึงที่เอามาใช้ในการแสดงมันไม่ต่าง แต่ว่าพอไปอยู่หน้างานแล้วมันต่าง ต่างแทบจะทุกมิติเลย เพราะว่าอย่างการที่เราเป็นนักแสดงละครเวทีเนี่ย มันคือการเล่นเพื่อให้พลังมันส่งถึงคนดู คนที่นั่งหน้าสุดและนั่งหลังสุดควรจะได้รับพลังที่เท่ากัน แล้วในห้องนึงมีกี่คน มันต้องใช้พลังเยอะมากในการสื่อสารสิ่งนึงไปให้ได้ทั้งห้อง ได้ทั้งเวที อะไรแบบนี้ ในขณะหนังมันคือการที่เราเล่นกับกล้อง เล่นให้กล้องจับสิ่งที่เราแสดงออกมา

คือมันก็จะมีคำว่าเล่นใหญ่เล่นเล็ก ถ้าพูดง่ายๆ เลย คือถ้าอยู่บนเวทีต้องเล่นใหญ่มาก ต้องมีพลังเยอะมาก แต่ขณะเดียวกันตอนที่อยู่หน้ากล้อง แค่เล่นเล็กๆ นิดเดียว หรือตากระตุกนิดเดียวอะ เขาก็เห็นแล้ว อะไรแบบนี้

มันก็เลยเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเราไปเล่นละคร เยอะๆ แล้วก็ไปเล่นหนัง มันก็จะต้องปรับจูนเยอะเหมือนกัน มันต้องลดพลังลง ลดความ exaggerate ลด energy ลง แล้วก็ไปสังเกตรายละเอียดดีเทลที่กล้องจะจับภาพได้ มันคือสเกลต่างกันมาก ต่างกันสุดขั้ว มันก็ยากกันคนละแบบ

อย่างละครเวทีเรื่องพลังก็จะยากกว่า เรื่องความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายที่จะถ่ายทอดพลังนั้นออกไป ละครเวทีจะยากกว่า แต่ละครเวทีมันยังซ้อมมาสามเดือน เพื่อเล่นรอบนี้ มันก็จะรู้ว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องคืออะไรแล้วก็พาไปได้ถึงตอนจบของเรื่อง แต่ในขณะที่หนัง แทบจะไม่มีการซ้อมเลย ต้องอาศัยการตีความ การท่องบทที่บ้าน แบบทำไปขายเอง แล้วมันก็ไม่ได้มีการซ้อมร่วมกันกับคนอื่น เกิดขึ้นสดๆ แล้วก็ไม่ได้มีการถ่ายเรียงตามลำดับเวลา เราก็จะถ่ายตามโลเคชั่น อย่างสมมติโลเคชั่นนี้ต้องมีซีน 1 ซีน 9 ซีน 20 เราก็ต้องเปลี่ยนไปแต่ละซีน ซีนนี้เราอาจจะยิ้ม หัวเราะ สบายใจ แต่ซีนต่อไปต้องร้องไห้ ก็ต้องทำให้ได้ มันก็เป็นความยากของหนังที่ต่างกับละคร คืออาจจะไม่ต้องใช้ energy เยอะเท่าก็จริง แต่ด้วยความที่มันไม่ได้เรียงซีนตามเนื้อเรื่อง เราก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นเลย


อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่มีความฝันอยากจะเดินทางสายนี้


ถ้าอยากจะมุ่งไปทาง career นี้ หลักๆ เลยอันดับแรก มันต้องใช้ความอดทนสูงมาก แล้วความอดทนอย่างเดียวไม่พอ ความอดทนในสิ่งที่เราทำก็เป็นเรื่องนึง ความอดทนในการรอจังหวะเวลาก็อีกเรื่องนึง ซึ่งการที่จะทำงานศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนก็แล้วแต่ในโลกใบนี้ มัน…

การที่จะซัพพอร์ตศิลปะมันอยู่หลังการซัพพอร์ตเรื่องอื่นอยู่แล้ว มันก็เลยเติบโตได้ช้า ในขณะที่เมืองนอกเขาซัพพอร์ตกันเยอะๆ มันยังช้าเลย แล้วมาดูในประเทศเราที่แบบว่า เรื่องปกติธรรมดาทั่วไปยังไม่ดีเลย การซัพพอร์ตศิลปะมันยิ่งไกลเข้าไปใหญ่ที่จะได้รับความสนใจขึ้นมาในด้านการงานอาชีพ มันก็เลยต้องอดทนมากๆ

ซึ่งอย่างตัวเราเองมีแพชชั่นมาตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าไม่มีแพชชั่นมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันต้องใช้ความอดทนสูงมาก และสิ่งที่ทำให้ความอดทนมันไปได้เรื่อยๆ ก็คือแพชชั่นที่แรงกล้าจริงๆ แต่แพชชั่นมันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสร้างขึ้นมาได้

เคยมีครูสอนละครคนนึงเขาให้กำลังใจว่า

เรารักละครเพราะละครทำให้เรามีความสุขนะ แต่ว่าถ้าเกิดว่าละครมันทำให้เรามีความทุกข์แล้วเรายังอยากอยู่กับมันต่อ แสดงว่าทางนี้ เรามาถูกแล้ว เพราะไม่ว่ามันจะทำให้เรามีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ เราก็ยังอยากพามันไปต่อกับเรา

เราคิดว่าอันนี้มันก็ต้องอาศัยความอดทนนิดนึง เราอาจจะเรียนมาเยอะ เก่งมากแค่ไหน มีสกิลมากแค่ไหน แต่ในที่สุดแล้วมันไม่เคยได้รับโอกาสเลย มันก็ต้องอดทนน่ะ อดทนไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ อย่างที่เห็น ทำงานฟรีแบบ 90 เปอร์เซ็น ทำมา 5 ปี เพิ่งได้เงินก้อนแรกจากการแสดง คือมันต้องอดทนนิดนึงอะ แต่ว่าในที่สุดแล้วความอดทนของเรามันก็เห็นผล แต่ว่ามันจะไม่ได้มาแบบตู้มเดียว มันก็จะค่อยๆ มา อย่างเช่นงานนี้เป็นต้น คือเราก็เอาคอนเคชั่นที่เราสั่งสมมาจากการไปช่วยทำงานฟรีให้คนอื่น เป็นเวลา 10 ปี

แพชชั่น สำคัญฉไน?

ก่อนหน้านี้สิ่งที่เราเคยทำมาทั้งหมด ที่เราทำเพราะเรารักสิ่งนี้ คือเราทำโดยที่ไม่ได้หวังอะไร ทำแบบมีใจอยากทำเท่านั้น ไม่ได้หวังว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่พอเราอดทนทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามีแพชชั่น เรามีใจรักจริงๆ สุดท้ายเนี่ย มันก็จะเห็นเองว่า สิ่งที่เราอดทนตั้งใจพยายามมาตลอด มันได้รับการตอบแทนของมันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปหวังตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายแล้วมันจะเห็นเอง

เรียนเยอะมากหลายที่ทั้งตรี โท และ New York สุดท้ายที่ London เล่าให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ


อย่างเช่นตอนที่เราเรียนป.ตรีที่ BAS ซัฟเฟอร์มาก อาจารย์ให้ท่องจำอะไรก็ไม่รู้ วรรณกรรมอะไรอย่างงี้ แต่กลายเป็นว่าสิ่งนั้นที่เราเกลียดในอดีต กลายเป็นว่ามีประโยชน์หมดเลย อย่างเช่นงานของ Shakespeare Macbeth อะไรอย่างงี้ ถ้าเกิดไม่เรียน ก็อาจจะไม่รู้อะไรเลย ทุกอย่างมันมีประโยชน์มาก เช่น วิธีการมองศิลปะอย่างวิชา Western Civilization และ Western Art ที่เคยเรียน

อย่างเรื่องนี้ (ที่กำลังทำอยู่) ที่บอกว่ามีการผสมรวมของหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ Macbeth ด้วย มันก็คือเอาบทละครส่วนนึงของ Macbeth มาเล่าเรื่องนี้ ซึ่งเราก็กลับไปหาหนังสือเก่าๆ ที่ยังอยู่ เพื่อจะบทละคร Macbeth อันนั้นให้เจอ เพื่อที่จะเอามาใช้ ยังมีเลคเชอร์ของเพื่อนที่ยังไม่ได้คืนอยู่เลยค่ะ (หัวเราะ)

มันตลกดีที่ตอนนั้นสิ่งที่เกลียดมากๆ กลับมีประโยชน์มาก แต่เรื่องนี้ (exodus) มันชัดมานานแล้วตั้งแต่เริ่มทำละคร ว่าความรู้ที่แบบว่า เราไม่ค่อยเอ็นจอยในสมัยเรียนพอเรามาทำอาชีพนี้มันมีประโยชน์หมดเลย มันก็เลยชัดเจนมากขึ้นว่า

ตอนนี้เราอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่ว่าในทางใดทางนึงในอนาคตมันจะ benefit somehow อะ ก็เลยแบบ ทำไปก่อน มันมีโอกาสมาแล้ว ทำไปก่อน เราไม่รู้ ตอนนี้มันอาจจะไม่เห็นผล แต่ 10 ปีอะ มันก็อาจจะ benefit someway ก็ได้

พอไปเรียนต่อ ตอนแรกเรียน Culture Management ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ แล้วก็พยายามจะ pursue career ของ actor ซึ่งมันก็ไม่เห็นอนาคตอะไรเลย ไม่เห็นคอนเนคชั่น ไม่มีสกิล ไม่มีนู่นนี่นั่น เรื่องที่เคยทำก็มีแค่แกลอรี่ขี้เหงา Gallery of Loneliness ที่ชมรมดราม่าของคณะ ก็แค่นั้น ก็ไปเป็นตัวประกอบของกันตนาแค่นั้น แบบน้อยมาก


ส่วนที่บ้านก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เขาก็คงประเมิณแล้วว่าแบบ มันเป็นอาชีพไม่ได้นะ ทำไปแต่ละวันมันก็มองไม่เห็นว่ามันจะไปได้ อะไรอย่างงี้ ก็เลยบอกเราว่าให้เรียนต่อเถอะ ซึ่งตอนนั้นช้อยส์ของการเรียนต่อเนี่ย มันก็มีแค่ประเทศไทย แล้วการศึกษาของประเทศไทยมันก็ค่อนข้างจะจำกัด อย่างตอนนั้น มันก็ไม่มีสาขาปริญญาโทที่จะเรียนอะไรแบบนี้โดยตรงเท่าไรนัก ย้อนกลับไป 10 ปี อะไรอย่างเงี้ยะ

ด้วยระบบการศึกษาไทย แล้วก็ที่บ้านอยากให้เรียนต่อเนี่ย มันก็เลยจำเป็นต้องไปเรียนเรื่องเดียวกันแต่ว่าเน้นด้านการ Management ด้านการสร้างศิลปะเนี่ยแหละ แต่ไปเรียนด้านการบริหารจัดการมากกว่า แต่ว่าพอไปเรียนสักพักนึง ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องศิลปะก็จริง แต่ว่ามันยังไม่ใช่ ไม่ได้อยากมา manage อยากเป็นคนสร้าง อยากเป็นคนครีเอทมากกว่า

เพราะว่าความไม่เอ็นจอยกับระบบการศึกษาไทยตอนนั้น เพราะตั้งใจว่าที่เราไปเรียนเนี่ย เขาให้เลือกระหว่างการทำธีสิสกับทำโปรเจค เราก็เลือกทำโปรเจคเพราะเราจะได้สร้างโชว์อะไรสักอย่างขึ้นมาโชว์นึง เสร็จเป็นตัวจบ อะไรอย่างงี้ แต่ด้วยข้อจำกัดของมหาลัย มันบังคับให้สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำสิ่งนี้ ต้องไปเขียนธีสิส เราก็โอเค เขียน-

ธีสิสทำงานวิจัย พวกวิจัยเชิงปริมาณ แบบไปสัมภาษณ์คนร้อยคน อะไรอย่างเงี้ย


เพราะระบบการศึกษามันบังคับให้มันเป็นแบบนั้น คือช้อยส์น้อยมาก พอทำไปครึ่งนึงแล้วก็ยอมตามระบบมาตลอดแบบไม่ได้เลือกทำโปรเจคในสิ่งที่ตัวเองอยาก เพราะว่าไม่มีบุคลากรมาเป็นที่ปรึกษาให้ อะไรแบบเนี้ย เหตุผล

งี่เง่าๆ (เริ่มขึ้นๆ) เหตุผลที่บอกว่า มหาลัยฯ ไม่สามารถ ………สิ่งนั้นนู่นนี่นั่นได้ สุดท้ายก็ต้องมาเขียนธีสิสเชิงปริมาณ แล้วทำไปได้ครึ่งนึงก็คิดว่า นี่เราทำอะไรอยู่อะ แบบ มันไม่ใช่แล้ว จุดเริ่มต้นเราไม่ได้อยากทำสิ่งนี้แล้วเราจะมาทรมาณกับสิ่งนี้ทำไม ก็เลยตัดสินใจล้มเลิก วางธีสิส อีกครึ่งทางมันก็จะจบแล้ว แต่ว่าตอนนั้นเรา doubt สิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ก็เลยทิ้งเลย แล้วก็หนีไปเรียนต่อแอคติ้ง เรียนต่อการแสดงโดยเฉพาะที่นิวยอร์ก (หัวเราะ) เราก็ใช้เงินส่วนตัวไป


ที่บ้านมีความเห็นยังไง


แม่ก็ทั้งโกรธทั้งเข้าใจ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเขาก็เห็นแล้วว่า สิ่งที่เขาเลือกอยากให้เราเรียนต่อกับระบบการศึกษาไทยมันไม่อำนวยให้ลูกได้ทำตามความฝันแล้วก็มีความสุข ถึงแม้แม่จะไม่เห็นด้วย แต่แม่ก็เข้าใจ เราก็เลยไปเรียนต่อ

นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ไปเรียนแอคติ้งจริงๆ เพราะก่อนหน้านั้นที่ทำมานานมันก็มีแต่สิ่งที่… คือเราไม่เคยเรียนน่ะ ไม่ได้เรียนแอคติ้งมาก่อน มันคือการลงมือทำเลย แล้วใช้ประสบการณ์นั้นมาต่อยอด แต่อันเนี้ย พอเรารู้ว่าเราต้องไปเรียนละ เราต้องติดเครื่องมือให้ตัวเองเพิ่มอะ ก็คือไปเรียนแล้วกลับมา มันก็ชัดแล้วว่าเราเริ่มมีของเพิ่มขึ้น มันก็ไปได้เรื่อยๆ



เป็น short course ใช่มั้ยคะ ต้องไปเรียนนานมั้ย

ตอนนั้นที่เราไปเรียน ปีนึง เราก็บริหารจัดการว่าอยากเรียนอะไรบ้าง หลักสูตรที่ใช้เวลาปีนึงในตอนนั้น ถ้าเป็นเงินตัวเองอะ ไม่มีปัญญาจ่าย ก็เลยกลายเป็น เรียนที่นี่ 1 เดือน เรียนที่นั่น 3 เดือน เรียนที่นู่น 1 เดือน แต่ว่ามันก็โอเคเพราะว่าเราเลือกสิ่งที่เราอยากจะเรียนได้ ที่ไม่ใช่หลักสูตรที่มหาลัยกำหนดมา อะไรอย่างเงี้ย แล้วมันโชคดีที่มันเป็นบอร์ดเวย์ ดินแดนแห่งละครเวทีอะ มันมีทุกอย่าง เออ ทุกอย่างที่อยากเรียน อันนั้นไม่ได้ไปเรียนเพื่อจะเอาปริญญาหรือจะเอาอะไร แต่เรียนเพื่อติดเครื่องมือให้ตัวเอง การแสดงอย่างเดียวล้วนๆ


แล้วที่ไปเรียนมาได้ใช้มั้ย

พอกลับมาจากนิวยอร์ก สิ่งที่เราเรียนมามันก็พาเราไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนึง เรารู้สึกว่าชีวิตเราถึงจะชอบสิ่งนี้ก็จริง แต่การเป็นตัวละครก็คือการเล่าเรื่องของคนอื่น ในบทของคนอื่นมาตลอดเลยนะ มาถึงจุดที่เรารู้สึกว่า เราอยากเล่าเรื่องของตัวเองบ้าง อยากเป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเอง

ก็เลยมาคราวนี้แหละ เราไปเรียนต่อกำกับ การกำกับการสร้างละกัน ในฐานะผู้สร้าง เพราะขั้นตอนต่อไปหลังการอิ่มตัวจากการเล่าเรื่องของคนอื่น เราไปเรียนเพื่อหาวิธีการเล่าเรื่องของตัวเองบ้าง


การเป็นนักแสดงกับการเป็นผู้กำกับ ต่างกันยังไง

ต่าง เพราะการเป็นนักแสดงก็คือให้เขากำกับมา แล้วเราแสดงให้ อยากให้เล่าอะไรเราเป็นให้ เพราะว่ามันก็เป็นเรื่องของเขา เขาเข้าใจเรื่องนี้ดีมาก เรามีสกิลแอคเตอร์ เราเอาสกิลแอคเตอร์ไปใช้ เพื่อเอาตัวละครที่เขาอยากให้เป็นเนี่ย ไปปรากฏบนเวทีให้ได้

แต่ถ้าเป็นผู้สร้างเรื่องของตัวเองเนี่ย เราก็ต้องรู้ คือไปเรียนกำกับอะ แบบว่า เราอยากเล่าเรื่องนี้ เราจะทำงานกับบทนักแสดงยังไงให้เขาเอาเรื่องของเราไปเล่าได้ มันคือการเปลี่ยนจากเบื้องหน้า ไปเป็นเบื้องหลังเลย ก็คือปริญญาโทเนี่ย มันก็ต้องใช้เวลาจากอันแรก เป็นสิบปี กว่าเราจะรู้ว่าเราต้องการอะไรกันแน่ สิ่งที่เราควรเรียนคืออะไรกันแน่


Topic ที่คุณตอยทำธีสิสคืออะไรคะ


Site Specific Theaters Practice ก็คือมันเริ่มจากเพราะว่า นอกจากจะอยากเล่าเรื่องของตัวเองด้วยแล้ว

การเป็นนักแสดงมาในเมืองไทย ผ่านเวลามากับวงการละครเวทีในไทย มันก็เห็นว่า ก่อนหน้านี้มันยังมีพื้นที่ให้เราเล่นนะ ยังมีโรงละคร ทั้งอิสระ ทั้งภาครัฐ ทั้งเอกชน มันมีอยู่นะ แต่พอเวลาผ่านไป พื้นที่เหล่านี้มันหายไป มันถูกเอาไปใช้กับอย่างอื่นที่มันได้เงินมากขึ้น ถูกเอาไปใช้เป็นคอนโด เป็นห้าง เป็นอะไรอย่างเงี้ย มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าประเทศเรามันเป็นแบบนั้น

แต่ว่าคนทำละครก็ยังไม่หยุดทำถึงแม้ว่ามันจะไม่มีที่เล่นละครก็ตาม ก็ไปหาเล่นตามร้านอาหาร ตามคาเฟ่ ตามแกลอรี่ไปเรื่อยๆ มันก็เลยมาเป็นไอเดียว่า แปลว่าละครเนี่ยไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในโรงละคร อยู่ที่ไหนก็ได้ มันก็เลยไปรวมกับสิ่งที่อยากจะเล่าเรื่องของตัวเอง ว่าเราเล่าเรื่องของตัวเองเนี่ย เราไม่จำเป็นต้องเล่าที่โรงละครก็ได้นะ เราอยากเล่าเล่าที่ไหนก็ได้ มันก็เลยเป็นเหตุผลให้ไปเรียนนู่นนี่ก็คือ site specific

ก็คือแบบ ให้ที่ไหนก็ได้เป็นฉากละคร แล้วเราก็สร้างเรื่องราวจากฉากนั้น ธีสิสก็คือให้สวนที่บ้านเป็นฉากละคร แต่ว่าฉากละครมันก็ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องว่า สวนของฉันเป็นยังไง อะไรอย่างเงี้ย แต่เราตีความสิ่งนั้นใหม่เลย โลกใหม่เลยโดยใช้เซตติ้งเดิม มันก็เลยเป็นวิธีการเล่า แต่ประกอบกับว่า ประเทศไทยมีการทำสิ่งนี้อยู่แล้ว การไปเล่นละครที่อื่นที่ไม่ใช่โรงละครเนี่ย แต่ว่ามันไม่เคยมีการพูดถึงในแง่วิชาการเลย ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้เลย

ซึ่งที่เราไปเรียน site specific theaters เนี่ย มันคือเจ้าแรกในอังกฤษที่สอนสิ่งนี้ แล้วพอเราจบมาก็เลยกลายเป็นว่า การจบปริญญาอันนี้ เป็นการจบปริญญาโทสาขานี้เป็นคนแรกของประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งมันก็ถูกจังหวะถูกเวลาพอดี ที่จะกลับมาทำงานในวงการการศึกษาด้วย เพราะว่าเราก็มีความรู้ทางวิชาการมาแล้ว แล้วเมืองไทยยังไม่มีสิ่งนี้ แล้วเราถ้าทำงานที่ไม่เกี่ยวกับวงการการศึกษา วงการศิลปะ ก็คือ มันเป็นจังหวะพอดีที่คนอยากทำละคร แต่ไม่มีพื้นที่ทำละคร ไปทำข้างนอกกันเถอะ อะไรแบบนี้พอดี ก่อนไปเรียนต่อ เพราะเราอยู่มาสักพักก็เลยเห็นว่ามันยังขาดอะไรและยังทำอะไรได้บ้าง


เป็น lesson แห่งการค้นหาตัวเองที่สุดยอดมากเลยค่ะ อย่างที่บอกจริงๆ ว่าแพชชั่นพาไป


ใช่ค่ะ แต่ว่าแพชชั่นอย่างเดียวมันก็ไม่พอ เพราะกว่าจะรู้ว่าต้องทำอะไรต้องเรียนอะไร เพื่ออะไร มันก็ใช้เวลา 10 กว่าปี คือมันก็ต้องอดทนนิดนึง ตอนนี้มันโชคดีเพราะว่าวงการศึกษาไทยมันเริ่มมีการสอนละครมากขึ้น


เคยถูกเชิญไปสอนรึยังคะ


มีค่ะ มี ม.บูรพา ไปมาเมื่อปีที่แล้ว มีมศว ไปเป็นรับเชิญค่ะ ไม่ได้เป็นอาจารย์พิเศษหรืออาจารย์ประจำ เพราะพอเรากลับมาเรามีความรู้เชิงวิชาการในเรื่อง site specific ที่เมืองไทยสนใจกันอยู่แล้ว เขาก็เลยพาไปแนะนำให้นักเรียนรู้จัก แล้วเขาก็เริ่มที่จะสอน site specific ที่มหาลัยกันบ้างแล้ว เลยมีโอกาสไปเลคเชอร์ให้ ม.บูรพา มศว อะไรแบบนี้ให้เด็ก

แต่ก็นี่แหละ ต้องอาศัยความอดทนระยะเวลาเป็น 10 ปี กว่าจะรู้ว่าเราอะไรเหมาะกับเรา



ยังมีเรื่องของที่บ้านด้วย บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เห็นด้วย กับงานสายนี้ เพราะรายได้อาจจะไม่แน่นอน


ถ้าเป็นอาชีพนี้แทบจะไม่มีความแน่นอนอยู่เลย นอกจากจะอยู่ในวงการบันเทิง ซึ่งมันก็ one in a million คือถ้าเป้าหมายอยากจะมาทำงานนี้เพื่อเงิน คิดว่า อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะว่าถ้าเป้าหมายแรกในอาชีพนี้คือเพื่อเงินเนี่ย มันจะซัฟเฟอร์ เพราะว่ามันจะไม่ได้มาง่ายๆ chance มันจะยาก อย่างของเรามันต้องอาศัยเวลา 10 ปี กับความอดทน

ซึ่งทุกวันถ้าพูดถึงว่ามีงานเยอะ ทำนู่นนี่นั่นมากกว่าเมื่อก่อนก็จริง แต่ในเชิง career ในเชิงเงินอะ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้เลยนะ อย่างเดือนนึง เงินจากโฆษณาสองตัว จะอยู่ได้ไปอีกสามสี่เดือนละ แต่โฆษณาตัวที่สามจะมาเมื่อไร มันไม่มั่นคงเลย ถ้าเกิดคิดว่าจะทำสิ่งนี้เพื่อเงินเนี่ย อาจจะต้องคิดใหม่ ซึ่งช่วงแรกๆ ตอยเองต้องทำงานที่บ้านเพื่อที่จะเอาเงินจากการทำงานอื่นที่ไม่ได้ชอบเนี่ย มาทำตามความฝัน ตอนนี้ถึงจะอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานที่บ้านแล้วแต่มันก็ใช้เวลา 10 กว่าปีอะ ที่จะเจอจุดอะไรอย่างงี้ ที่บ้านยอมรับ อะไรอย่างงี้


แล้วมันยังมีพื้นที่สำหรับ career นี้มั้ยคะ ทั้งเมืองไทยแล้วก็ต่างประเทศ


เมืองไทยตอนนี้ จากที่อยู่กับมันมาหลายปี มันดีขึ้นทุกๆ วัน ทุกๆ วันเลย ก็คือบุคลากรมากขึ้น มีการเปิดการสอนทั้งในมหาลัย แล้วก็นอกมหาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนทำงานมากขึ้น มีที่ให้ไปเสพศิลปะ มีที่ให้ไปทำ work shop นู่นนี่นั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ก็แปลว่าเนี่ย คนเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากขึ้นแล้ว
10 ปีนี้มันเดินทางช้า แต่ว่ามันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็แปลว่าในอนาคตมันต้องดีขึ้นแน่นอน ก็คิดว่าถ้าเกิดจะมาทางนี้ มันจะมีที่ทางให้ ขอแค่ต้องก้าวออกจาก comfort zone เพื่อตามหามัน แล้วก็อดทนนิดนึง

อยากให้แนวคิดและการตัดสินใจ ไว้เป็นกำลังใจไว้ให้น้องๆ หน่อยค่า


รู้สึกว่าคีย์ของการที่เราสนใจสิ่งนี้แล้วยังไม่รู้ว่ามันใช่รึเปล่า ก็คือหาทางทำมันให้ได้มากที่สุดก่อน เดี๋ยวนี้มันก็มีเยอะแล้วลองไปเรียน สมมติว่ารู้สึกสนใจละครใช่มั้ย แต่ว่าไม่แน่ใจว่าสนใจละครพูด หรือละคร musical ไปหาทำ ไปหาดู ไปหาเสพให้ได้ก่อน จนมั่นใจว่านี่แหละทางเรา ยิ่งหาทำมากเท่าไร มันก็ยิ่งจะเข้าใจตัวเองมาก หาความรู้ research หาประสบการณ์ การไปเป็นคนดูมันก็คือการไปเรียนเหมือนกัน มันไม่จำเป็นต้องไปเรียนอย่างเดียว แต่มัน learn by doing หรือ learn by การเสพ ในฐานะการเป็นคนดูก็ได้ จริงๆ มันคือสิ่งเดียวกันแหละ อย่างอยู่ในมหาลัยหรืออยู่นอกมหาลัย แต่ก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันใช่ตัวเองรึเปล่า พอใช่แล้วก็ค่อยหาทางไปต่อกับสิ่งนั้น


สรุปว่าถ้าเขาชอบก็คือ ทำไปก่อน ทำไปแล้วก็ถ้าชอบอะไรแบบชัดเจนก็คือ go deep เลย จนกระทั่งเหมือนที่คุณตอยทำใช่มั้ยคะ เป็นนักแสดงไปเรื่อยๆ 10 ปีจนรู้ว่าแบบ เรามากำกับเราก็ชอบนี่ ในขณะที่ก็ยังแสดงอยู่เหมือนกัน ก็คือชอบเช่นกัน มันก็เป็นความเจ๋งดีนะคะ


ถ้าเกิดจะอยากฝากอะไรน้องๆ อะ ก็คือแบบ ทำไปก่อนนั่นแหละ ทำไปโดยที่พยายามพาตัวเองออกจาก comfort zone ให้ได้ ไม่งั้นเราก็จะไม่เจอว่าข้างนอกมันคืออะไร ถ้ามัวแต่คิดว่าจะเอาตัวเองอยู่ใน comfort zone ถนัดละ เราสบายใจละ แต่การก้าวข้ามออกไปเจอ หรือการได้ทำอะไรใหม่ๆ อะ เราอาจจะไปค้นพบสิ่งที่เราถนัดเพียงแค่เราก้าวขาออกมาหนึ่งก้าวก็ได้ แค่นี้เองอะ แล้วมันก็จะพาเราไปต่อได้


2 views0 comments
bottom of page